วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กรอบความคิดในการวิจัยเชิงคุณภาพ


"กรอบความคิดการวิจัย" เป็นประเด็นที่นักศึกษาหลายๆ คนให้ความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการออกแบบการวิจัย หรือ การทำโครงร่างวิทยานิพนธ์

โดยสาระสำคัญ กรอบความคิดในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เป็น ตัวเชื่อม (linkage) ระหว่างคำถามวิจัย กับแนวคิดทฤษฎีและการปฎิทัศน์วรรณกรรม กรอบความคิดเป็นเครื่องสื่อภาพในใจ ให้ปรากฎเป็นข้อความ (text) หรือ ภาพ (graphic) ว่า เราจะศึกษาปรากฏการณ์อะไร และศึกษาอย่างไร

กรอบความคิดได้มาอย่างไร?

กรอบความคิดการวิจัย ส่วนใหญ่จะได้มาจาก การอ่านหนังสือ หรือ การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวกับ ทั้งเชิงทฤษฎี และงานวิัจัยที่เกี่ยวข้อง

การทบทวนเชิงทฤษฎี เพื่อ ให้เราได้มี ชุดของแกนความคิดรวบยอด (core concepts) ที่จะนำมาใช้เป็นประเด็นศึกษา และประเด็นวิเคราะห์ข้อมูล ชุดความคิดรวบยอดนี้ ผู้วิจัยพึงพิจารณาเลื่อกใช้้ให้เหมาะเจาะ (fit) กับการตอบคำถามการวิจัย ตัวอย่างเช่น หากนักศึกษาต้องการใช้ทฤษฎีครุศาสตร์แนววิพากษ์ (critical pedagogy) ซึ่งประกอบด้วยความคิดรวบยอดมากมาย นักศึกษาก็อาจเลือกเฉพาะบางแนวคิดมาใช้ เช่น ความคิดรวบยอดเรื่อง hegemony, hidden curriculum, oppressor-oppressed

ทฤษฎีจึงเป็นเครื่องนำทางการวิจัย ให้ผู้วิจัยมีกรอบอ้างอิง ในการมอง ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เราต้องการจะศึกษา ส่วนชุดแกนความคิดรวบยอดที่เราได้จากการทบทวนวรรณกรรม (ซึ่งควรทำเชิงสังเคราะห์) นั้น ก็ช่วยให้เราได้เห็นว่า ความรู้ที่มีอยู่แล้ว (prior knowledge) นั้นมีเรื่องอะไรบ้าง ตัวแปร หรือ ประเด็น ที่ใช้ศึกษาเป็นอย่างไร เพื่อเราจะได้นำมาปรับใช้สำหรับงานของเราโดยไม่ทำซ้ำกับความรู้ที่มีอยู่เดิม แต่ช่วยต่อยอดความรู้ในวงวิชาที่เราสนใจให้กว้างขวาง ลึกซึ้งต่อไป

กล่าวโดยสรุป กรอบความคิดในการวิจัย คือชุดของความคิดรวบยอด ที่เราจะใช้ค้นคว้า เก็บข้อมูล และเป็น กรอบอ้างอิงในการตีความหมายข้อมูล กรอบความคิดจะช่วยตอบคำถาม what to look ? ซึ่งหมายถึงว่า เราจะเก็บข้อมูลอะไรบ้าง How to look เราจะตีความหมายข้อมูลที่ได้มาอย่างไร เพื่อตอบคำถามที่เราสนใจได้

กรอบความคิดที่นำเสนอไว้นี้ ใช้สำหรับงานวิจัยเชิงคุณภาพเป็นหลัก ทั้งนี้ พึงระึลึกว่า กรอบความคิดนี้ ผู้วิจัยควรใช้อย่างยืดหยุ่น และสามารถทำไป ปรับใช้ไปได้ ตามหลักการออกแบบงานวิจัยเชิงคุณ ที่เรียกว่า emergent design และกรอบความคิดนี้ มีขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้วิจัยมีแนวทาง หรือมุมมองในการศึกษาปรากฏการณ์ที่สนใจ รวมทั้งเป็นเครื่องช่วย ในการตั้งคำถาม สำหรับการเก็บข้อมูล

ความแตกต่างระหว่าง กรอบความคิดของการวิจัยเชิงคุณภาพกับวิจัยเชิงปริมาณ นั้น โดยสาระคือ กรอบความคิดในงานวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการสร้างสมมติฐานนำการวิจัย (hypothesized) แต่ในการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น กรอบความคิดเป็นการนำทางเพื่อการทำงวิจัย เพื่อสร้างข้อสรุปเชิงสมมติฐาน (hypothesizing)

การวิจัยภาคสนาม



เมื่อเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาส นำนักศึกษา ไปฝึก "การทำวิจัยภาคสนาม" ที่ำตำบล ผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัด พะเยา

กระบวนการเรียนการสอนในวิชานี้ มุ่งให้ผู้เรียนเกิด "ความรู้จากการปฏิบัติ" ผู้เรียนจึงต้องไปอยู่กับชาวบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้งและเย้า เป็นเวลา ๒๐ วัน

การทำงานวิจัยภาคสนาม โดยสรุป ก็คือ การเข้าไปอาศัยอยู่กับชาวบ้าน พยายามมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อศึกษาการให้ความหมายของประสบการณ์ของชาวบ้านที่เราสนใจใคร่รู้

การจัดการเีรียนการสอนในวิชานี้ มุ่งให้ผู้เรียนสร้างความรู้จากการสะท้อนประสบการณ์จากการเรียน ซึ่งในการลงฝึกภาคสนามครั้งนี้ ผู้เขียนได้สรุปสาระสำคัญของการวิจัยภาคสนาม ซึ่งเกิดจากการคิดอย่างใคร่ครวญ (Reflective thinking) ของนักศึกษา ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็น งานวิจัยภาคสนามแบบปง (Phong's Model of field research) ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

องค์ประกอบของการวิจัยภาคสนาม ได้แก่ นักวิจัย สถานที่่ การมีส่วนร่วม และวิทยวินัย

นักวิจัย คือคนที่อยู่ในสนาม การทำงานภาคสนามนักวิจัยพึงระึลึกไว้เสมอๆ ถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนักวิจัยกับชาวบ้านในพื้นที่ และนักวิจัยพึงใช้ความคิดใคร่ครวญอย่างพินิจพิจารณา (reflexivity) หมายถึงว่า ผู้วิจัยต้องหมั่นตรวจสอบวิธีคิดของตนเองอยู่เสมอๆ ว่า มุมมองหรือกรอบอ้างอิงในการสังเกตปรากฏการณ์ และหาความหมายของประสบการณ์ของตนอยู่ภายใต้ข้อสมมติอะไร?

สถานที่ เมื่อพูดถึงภาคสนาม ย่อมมีนัยของ "สถานที่" ซึ่งหมายถึง สนามนั้นเอง การวิจัยภาคสนามโดยความหมายทั่วไป คือ งานวิจัยที่ผู้วิจัยลงเก็บข้อมูลปฐมภูมิด้วยตนเอง ในพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง งานวิัจัยเป็นกระบวนการตั้งคำถาม และหาคำตอบ อย่างมีระเบียบวิธี สามารถตรวจสอบข้อมูล และมีหลักฐานอ้างอิงได้ สถานที่ ในงานวิจัยภาคสนาม จึงหมายถึง พื้นที่ที่มี "คำถาม" และ "คำตอบ" ของการวิจัยอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้น
อีกประการหนึ่งที่เป็นสาระสำคัญของ สถานที่ คือ การทำวิจัยภาคสนาม หมายถึง การเข้าไปอยู่อาศัย ในสถานที่ ในบางตำรา เรียกว่า เข้าไป "indwelling" ซึ่งมีความหมายโดยสรุปว่า การไปฝังตัวอยู่ ณ สถานที่ ที่เราตั้งคำถาม และต้องการหาคำตอบเกี่ยวกับโลกทางสังคมที่เราสนใจ

การมีส่วนร่วม การวิจัยภาคสนาม มิได้เกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์แบบ ผู้วิจัยฝ่ายหนึ่ง กับ ผู้ถูกวิัจัยอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ผู้วิจัยต้องใช้ความพยายามที่จะมีส่วนร่วมกับวิถีชีวิตของคนที่่เราเข้าไปศึกษาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีการเก็บข้อมูลแบบนี้ เรียกว่า participant observation ซึ่งหมายถึง การเก็บข้อมูลในฐานะผู้มีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งอาจทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วนักวิัจัยจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับอะไร? ประเด็นสำัคัญของการมีส่วนร่วมก็คือ การมีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันอันแสนจะธรรมดาของชาวบ้าน (mundane daily life practice) เพื่อทำความเข้าใจ "ความหมายของประสบการณ์" (meaning of experience) และวิธีการสร้างความหมายให้แก่ประสบการณ์

วิทยวินัย (discipline) ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า การวิจัยเป็นกระบวนการ ตั้งคำถาม และหาคำตอบ อย่างมีระเบียบวิธี การทำวิจัยสนามจึงต้องคำนึงถึง วิทยวินัย ในการศึกษา ประเด็นสำคัญๆ ที่ผู้วิจัยจะต้องคำนึงถึง คือ

- การออกแบบวิจัย การออกแบบวิจัยภาคสนาม อาจมีลักษณะ ออกแบบหน้างาน (emergent design) หมายถึงผู้วิจัยอาจไปตั้งคำถาม จากสถานการณ์จริง แล้วจึงออกแบบวิธีการเก็บข้อมูลในพื้นที่่ ซึ่งการออกแบบนั้น ไม่ควรทำแบบแข็งตัว (rigid) แต่ควรมีความยืดหยุ่น ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพจริงในพื้นที่

- ทฤษฎี มักจะมีการตั้งคำถามว่า จำเป็นจะต้องมีทฤษฎีนำการวิจัยภาคสนามหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาโดยความหมายกว้างของคำว่าทฤษฎีทางสังคม ซึ่งหมายถึง ชุดของความคิดยอด (set of concept) ซึ่งอธิบาย หรือบรรยายความหมายและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโลกทางสังคมแล้ว งานวิจัยภาคสนามที่ปราศจากทฤษฎี คงจะเป็นไปได้อยาก ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ การใช้ทฤษฎีอย่างระลึกรู้ และใช้เพื่อเป็น กรอบอ้างอิง ในการมองปรากฏการณ์ที่เรามุ่งศึกษา

- วิธีเก็บข้อมูล การเก็บข้อมูลภาคสนาม นิยมใช้วิธีการ สังเกตในฐานะผู้มีส่วนร่วม ซึ่งหมายถึงว่าผู้จัย เข้าไป ใช้ชีวิต เฝ้ามองอย่างสังเกต ฟัง และเรียนรู้ วิถีชีวิตของชาวบ้าน (live, look, listen, and learn)

- ข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว เรื่องที่นักวิจัยจะต้องคำนึงก็คือ การจำแนกแยกแยะระหว่าง ข้อเท็จจริง (fact) กับ ข้อมูลที่เป็น ความคิดเห็นและอารมณ์ความรู้สึกของผู้วิจัย (opinion) ข้อเท็จจริง คือ สิ่งที่ผู้วิจัยได้รับจากปราสาทสัมผัสทั้ง ๖ ซึ่งเราเรียกว่า "ข้อมูลภาคสนาม" ส่วนความคิดเห็นและอารมณ์ความรู้สึก เป็นความคิด และท่าที ที่ผู้วิจัยมีต่อข้อมูลเหล่านั้น ผู้วิจัยพึงจำแนกแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นให้ดี

- ความน่าเชื่อถือของงานวิจัย (trustworthiness) คือความถูกต้อง เที่ยงตรงของข้อมูลนำไปสู่ความน่าเชื่่ือถือของงานวิจัย ในงานวิจัยภาคสนามหรืองานวิจัยเชิงคุณภาพโดยทั่วไป มักให้ความสำคัญแก่ 1) ความสามารถในการยืนยัน (confirmability) ว่าข้อมูลได้รับการตรวจสอบ และยืนยันความถูกต้องจากหลายแหล่งข้อมูล 2) ความถูกต้องเที่ยงตรง (dependability) คำนี้มีความหมายใกล้เคียงกับ ความเที่ยง (reliability) ของงานวิจัยเชิงปริมาณ หมายถึง ว่า เราศึกษา หรือ เพ่งพินิจในสิ่งที่ต้องการศึกษาจริง และการตีความหมายหรือหาความหมายของเรา มีความเที่ยงตรง จากข้อเท็จจริงที่พบ ไม่ใช่ประดิษฐ์ข้อค้นพบ โดยเหตุนึกเอาหรือใช้อารมณ์ความรู้สึก 3) ความน่าเชือถือ (credibility) หมายถึง แหล่งข้อมูลที่ได้รับมีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบ ตรวจทานที่มาที่ไปได้ และมีหลักฐานมารองรับ



ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ "แบบจำลองการวิจัยภาคสนามแบบปง" ซึ่่งเกิดจากการปฏิทัศน์ประสบการณ์ ของนักศึกษา หลักสูตร วัฒนธรรมและการพัฒนา ที่ได้ลงไปศึกษา ซึ่งผู้เขียน ในฐานะผู้พานักศึกษาไปฝึกประสบการณ์ครั้งนี้ ขอนำมาเผยแพร่ เพื่อได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้กัน