"กรอบความคิดการวิจัย" เป็นประเด็นที่นักศึกษาหลายๆ คนให้ความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการออกแบบการวิจัย หรือ การทำโครงร่างวิทยานิพนธ์
โดยสาระสำคัญ กรอบความคิดในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เป็น ตัวเชื่อม (linkage) ระหว่างคำถามวิจัย กับแนวคิดทฤษฎีและการปฎิทัศน์วรรณกรรม กรอบความคิดเป็นเครื่องสื่อภาพในใจ ให้ปรากฎเป็นข้อความ (text) หรือ ภาพ (graphic) ว่า เราจะศึกษาปรากฏการณ์อะไร และศึกษาอย่างไร
กรอบความคิดได้มาอย่างไร?
กรอบความคิดการวิจัย ส่วนใหญ่จะได้มาจาก การอ่านหนังสือ หรือ การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวกับ ทั้งเชิงทฤษฎี และงานวิัจัยที่เกี่ยวข้อง
การทบทวนเชิงทฤษฎี เพื่อ ให้เราได้มี ชุดของแกนความคิดรวบยอด (core concepts) ที่จะนำมาใช้เป็นประเด็นศึกษา และประเด็นวิเคราะห์ข้อมูล ชุดความคิดรวบยอดนี้ ผู้วิจัยพึงพิจารณาเลื่อกใช้้ให้เหมาะเจาะ (fit) กับการตอบคำถามการวิจัย ตัวอย่างเช่น หากนักศึกษาต้องการใช้ทฤษฎีครุศาสตร์แนววิพากษ์ (critical pedagogy) ซึ่งประกอบด้วยความคิดรวบยอดมากมาย นักศึกษาก็อาจเลือกเฉพาะบางแนวคิดมาใช้ เช่น ความคิดรวบยอดเรื่อง hegemony, hidden curriculum, oppressor-oppressed
ทฤษฎีจึงเป็นเครื่องนำทางการวิจัย ให้ผู้วิจัยมีกรอบอ้างอิง ในการมอง ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เราต้องการจะศึกษา ส่วนชุดแกนความคิดรวบยอดที่เราได้จากการทบทวนวรรณกรรม (ซึ่งควรทำเชิงสังเคราะห์) นั้น ก็ช่วยให้เราได้เห็นว่า ความรู้ที่มีอยู่แล้ว (prior knowledge) นั้นมีเรื่องอะไรบ้าง ตัวแปร หรือ ประเด็น ที่ใช้ศึกษาเป็นอย่างไร เพื่อเราจะได้นำมาปรับใช้สำหรับงานของเราโดยไม่ทำซ้ำกับความรู้ที่มีอยู่เดิม แต่ช่วยต่อยอดความรู้ในวงวิชาที่เราสนใจให้กว้างขวาง ลึกซึ้งต่อไป
กล่าวโดยสรุป กรอบความคิดในการวิจัย คือชุดของความคิดรวบยอด ที่เราจะใช้ค้นคว้า เก็บข้อมูล และเป็น กรอบอ้างอิงในการตีความหมายข้อมูล กรอบความคิดจะช่วยตอบคำถาม what to look ? ซึ่งหมายถึงว่า เราจะเก็บข้อมูลอะไรบ้าง How to look เราจะตีความหมายข้อมูลที่ได้มาอย่างไร เพื่อตอบคำถามที่เราสนใจได้
กรอบความคิดที่นำเสนอไว้นี้ ใช้สำหรับงานวิจัยเชิงคุณภาพเป็นหลัก ทั้งนี้ พึงระึลึกว่า กรอบความคิดนี้ ผู้วิจัยควรใช้อย่างยืดหยุ่น และสามารถทำไป ปรับใช้ไปได้ ตามหลักการออกแบบงานวิจัยเชิงคุณ ที่เรียกว่า emergent design และกรอบความคิดนี้ มีขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้วิจัยมีแนวทาง หรือมุมมองในการศึกษาปรากฏการณ์ที่สนใจ รวมทั้งเป็นเครื่องช่วย ในการตั้งคำถาม สำหรับการเก็บข้อมูล
ความแตกต่างระหว่าง กรอบความคิดของการวิจัยเชิงคุณภาพกับวิจัยเชิงปริมาณ นั้น โดยสาระคือ กรอบความคิดในงานวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการสร้างสมมติฐานนำการวิจัย (hypothesized) แต่ในการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น กรอบความคิดเป็นการนำทางเพื่อการทำงวิจัย เพื่อสร้างข้อสรุปเชิงสมมติฐาน (hypothesizing)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น