วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กรอบความคิดในการวิจัยเชิงคุณภาพ


"กรอบความคิดการวิจัย" เป็นประเด็นที่นักศึกษาหลายๆ คนให้ความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการออกแบบการวิจัย หรือ การทำโครงร่างวิทยานิพนธ์

โดยสาระสำคัญ กรอบความคิดในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เป็น ตัวเชื่อม (linkage) ระหว่างคำถามวิจัย กับแนวคิดทฤษฎีและการปฎิทัศน์วรรณกรรม กรอบความคิดเป็นเครื่องสื่อภาพในใจ ให้ปรากฎเป็นข้อความ (text) หรือ ภาพ (graphic) ว่า เราจะศึกษาปรากฏการณ์อะไร และศึกษาอย่างไร

กรอบความคิดได้มาอย่างไร?

กรอบความคิดการวิจัย ส่วนใหญ่จะได้มาจาก การอ่านหนังสือ หรือ การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวกับ ทั้งเชิงทฤษฎี และงานวิัจัยที่เกี่ยวข้อง

การทบทวนเชิงทฤษฎี เพื่อ ให้เราได้มี ชุดของแกนความคิดรวบยอด (core concepts) ที่จะนำมาใช้เป็นประเด็นศึกษา และประเด็นวิเคราะห์ข้อมูล ชุดความคิดรวบยอดนี้ ผู้วิจัยพึงพิจารณาเลื่อกใช้้ให้เหมาะเจาะ (fit) กับการตอบคำถามการวิจัย ตัวอย่างเช่น หากนักศึกษาต้องการใช้ทฤษฎีครุศาสตร์แนววิพากษ์ (critical pedagogy) ซึ่งประกอบด้วยความคิดรวบยอดมากมาย นักศึกษาก็อาจเลือกเฉพาะบางแนวคิดมาใช้ เช่น ความคิดรวบยอดเรื่อง hegemony, hidden curriculum, oppressor-oppressed

ทฤษฎีจึงเป็นเครื่องนำทางการวิจัย ให้ผู้วิจัยมีกรอบอ้างอิง ในการมอง ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เราต้องการจะศึกษา ส่วนชุดแกนความคิดรวบยอดที่เราได้จากการทบทวนวรรณกรรม (ซึ่งควรทำเชิงสังเคราะห์) นั้น ก็ช่วยให้เราได้เห็นว่า ความรู้ที่มีอยู่แล้ว (prior knowledge) นั้นมีเรื่องอะไรบ้าง ตัวแปร หรือ ประเด็น ที่ใช้ศึกษาเป็นอย่างไร เพื่อเราจะได้นำมาปรับใช้สำหรับงานของเราโดยไม่ทำซ้ำกับความรู้ที่มีอยู่เดิม แต่ช่วยต่อยอดความรู้ในวงวิชาที่เราสนใจให้กว้างขวาง ลึกซึ้งต่อไป

กล่าวโดยสรุป กรอบความคิดในการวิจัย คือชุดของความคิดรวบยอด ที่เราจะใช้ค้นคว้า เก็บข้อมูล และเป็น กรอบอ้างอิงในการตีความหมายข้อมูล กรอบความคิดจะช่วยตอบคำถาม what to look ? ซึ่งหมายถึงว่า เราจะเก็บข้อมูลอะไรบ้าง How to look เราจะตีความหมายข้อมูลที่ได้มาอย่างไร เพื่อตอบคำถามที่เราสนใจได้

กรอบความคิดที่นำเสนอไว้นี้ ใช้สำหรับงานวิจัยเชิงคุณภาพเป็นหลัก ทั้งนี้ พึงระึลึกว่า กรอบความคิดนี้ ผู้วิจัยควรใช้อย่างยืดหยุ่น และสามารถทำไป ปรับใช้ไปได้ ตามหลักการออกแบบงานวิจัยเชิงคุณ ที่เรียกว่า emergent design และกรอบความคิดนี้ มีขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้วิจัยมีแนวทาง หรือมุมมองในการศึกษาปรากฏการณ์ที่สนใจ รวมทั้งเป็นเครื่องช่วย ในการตั้งคำถาม สำหรับการเก็บข้อมูล

ความแตกต่างระหว่าง กรอบความคิดของการวิจัยเชิงคุณภาพกับวิจัยเชิงปริมาณ นั้น โดยสาระคือ กรอบความคิดในงานวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการสร้างสมมติฐานนำการวิจัย (hypothesized) แต่ในการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น กรอบความคิดเป็นการนำทางเพื่อการทำงวิจัย เพื่อสร้างข้อสรุปเชิงสมมติฐาน (hypothesizing)

การวิจัยภาคสนาม



เมื่อเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาส นำนักศึกษา ไปฝึก "การทำวิจัยภาคสนาม" ที่ำตำบล ผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัด พะเยา

กระบวนการเรียนการสอนในวิชานี้ มุ่งให้ผู้เรียนเกิด "ความรู้จากการปฏิบัติ" ผู้เรียนจึงต้องไปอยู่กับชาวบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้งและเย้า เป็นเวลา ๒๐ วัน

การทำงานวิจัยภาคสนาม โดยสรุป ก็คือ การเข้าไปอาศัยอยู่กับชาวบ้าน พยายามมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อศึกษาการให้ความหมายของประสบการณ์ของชาวบ้านที่เราสนใจใคร่รู้

การจัดการเีรียนการสอนในวิชานี้ มุ่งให้ผู้เรียนสร้างความรู้จากการสะท้อนประสบการณ์จากการเรียน ซึ่งในการลงฝึกภาคสนามครั้งนี้ ผู้เขียนได้สรุปสาระสำคัญของการวิจัยภาคสนาม ซึ่งเกิดจากการคิดอย่างใคร่ครวญ (Reflective thinking) ของนักศึกษา ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็น งานวิจัยภาคสนามแบบปง (Phong's Model of field research) ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

องค์ประกอบของการวิจัยภาคสนาม ได้แก่ นักวิจัย สถานที่่ การมีส่วนร่วม และวิทยวินัย

นักวิจัย คือคนที่อยู่ในสนาม การทำงานภาคสนามนักวิจัยพึงระึลึกไว้เสมอๆ ถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนักวิจัยกับชาวบ้านในพื้นที่ และนักวิจัยพึงใช้ความคิดใคร่ครวญอย่างพินิจพิจารณา (reflexivity) หมายถึงว่า ผู้วิจัยต้องหมั่นตรวจสอบวิธีคิดของตนเองอยู่เสมอๆ ว่า มุมมองหรือกรอบอ้างอิงในการสังเกตปรากฏการณ์ และหาความหมายของประสบการณ์ของตนอยู่ภายใต้ข้อสมมติอะไร?

สถานที่ เมื่อพูดถึงภาคสนาม ย่อมมีนัยของ "สถานที่" ซึ่งหมายถึง สนามนั้นเอง การวิจัยภาคสนามโดยความหมายทั่วไป คือ งานวิจัยที่ผู้วิจัยลงเก็บข้อมูลปฐมภูมิด้วยตนเอง ในพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง งานวิัจัยเป็นกระบวนการตั้งคำถาม และหาคำตอบ อย่างมีระเบียบวิธี สามารถตรวจสอบข้อมูล และมีหลักฐานอ้างอิงได้ สถานที่ ในงานวิจัยภาคสนาม จึงหมายถึง พื้นที่ที่มี "คำถาม" และ "คำตอบ" ของการวิจัยอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้น
อีกประการหนึ่งที่เป็นสาระสำคัญของ สถานที่ คือ การทำวิจัยภาคสนาม หมายถึง การเข้าไปอยู่อาศัย ในสถานที่ ในบางตำรา เรียกว่า เข้าไป "indwelling" ซึ่งมีความหมายโดยสรุปว่า การไปฝังตัวอยู่ ณ สถานที่ ที่เราตั้งคำถาม และต้องการหาคำตอบเกี่ยวกับโลกทางสังคมที่เราสนใจ

การมีส่วนร่วม การวิจัยภาคสนาม มิได้เกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์แบบ ผู้วิจัยฝ่ายหนึ่ง กับ ผู้ถูกวิัจัยอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ผู้วิจัยต้องใช้ความพยายามที่จะมีส่วนร่วมกับวิถีชีวิตของคนที่่เราเข้าไปศึกษาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีการเก็บข้อมูลแบบนี้ เรียกว่า participant observation ซึ่งหมายถึง การเก็บข้อมูลในฐานะผู้มีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งอาจทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วนักวิัจัยจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับอะไร? ประเด็นสำัคัญของการมีส่วนร่วมก็คือ การมีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันอันแสนจะธรรมดาของชาวบ้าน (mundane daily life practice) เพื่อทำความเข้าใจ "ความหมายของประสบการณ์" (meaning of experience) และวิธีการสร้างความหมายให้แก่ประสบการณ์

วิทยวินัย (discipline) ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า การวิจัยเป็นกระบวนการ ตั้งคำถาม และหาคำตอบ อย่างมีระเบียบวิธี การทำวิจัยสนามจึงต้องคำนึงถึง วิทยวินัย ในการศึกษา ประเด็นสำคัญๆ ที่ผู้วิจัยจะต้องคำนึงถึง คือ

- การออกแบบวิจัย การออกแบบวิจัยภาคสนาม อาจมีลักษณะ ออกแบบหน้างาน (emergent design) หมายถึงผู้วิจัยอาจไปตั้งคำถาม จากสถานการณ์จริง แล้วจึงออกแบบวิธีการเก็บข้อมูลในพื้นที่่ ซึ่งการออกแบบนั้น ไม่ควรทำแบบแข็งตัว (rigid) แต่ควรมีความยืดหยุ่น ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพจริงในพื้นที่

- ทฤษฎี มักจะมีการตั้งคำถามว่า จำเป็นจะต้องมีทฤษฎีนำการวิจัยภาคสนามหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาโดยความหมายกว้างของคำว่าทฤษฎีทางสังคม ซึ่งหมายถึง ชุดของความคิดยอด (set of concept) ซึ่งอธิบาย หรือบรรยายความหมายและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโลกทางสังคมแล้ว งานวิจัยภาคสนามที่ปราศจากทฤษฎี คงจะเป็นไปได้อยาก ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ การใช้ทฤษฎีอย่างระลึกรู้ และใช้เพื่อเป็น กรอบอ้างอิง ในการมองปรากฏการณ์ที่เรามุ่งศึกษา

- วิธีเก็บข้อมูล การเก็บข้อมูลภาคสนาม นิยมใช้วิธีการ สังเกตในฐานะผู้มีส่วนร่วม ซึ่งหมายถึงว่าผู้จัย เข้าไป ใช้ชีวิต เฝ้ามองอย่างสังเกต ฟัง และเรียนรู้ วิถีชีวิตของชาวบ้าน (live, look, listen, and learn)

- ข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว เรื่องที่นักวิจัยจะต้องคำนึงก็คือ การจำแนกแยกแยะระหว่าง ข้อเท็จจริง (fact) กับ ข้อมูลที่เป็น ความคิดเห็นและอารมณ์ความรู้สึกของผู้วิจัย (opinion) ข้อเท็จจริง คือ สิ่งที่ผู้วิจัยได้รับจากปราสาทสัมผัสทั้ง ๖ ซึ่งเราเรียกว่า "ข้อมูลภาคสนาม" ส่วนความคิดเห็นและอารมณ์ความรู้สึก เป็นความคิด และท่าที ที่ผู้วิจัยมีต่อข้อมูลเหล่านั้น ผู้วิจัยพึงจำแนกแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นให้ดี

- ความน่าเชื่อถือของงานวิจัย (trustworthiness) คือความถูกต้อง เที่ยงตรงของข้อมูลนำไปสู่ความน่าเชื่่ือถือของงานวิจัย ในงานวิจัยภาคสนามหรืองานวิจัยเชิงคุณภาพโดยทั่วไป มักให้ความสำคัญแก่ 1) ความสามารถในการยืนยัน (confirmability) ว่าข้อมูลได้รับการตรวจสอบ และยืนยันความถูกต้องจากหลายแหล่งข้อมูล 2) ความถูกต้องเที่ยงตรง (dependability) คำนี้มีความหมายใกล้เคียงกับ ความเที่ยง (reliability) ของงานวิจัยเชิงปริมาณ หมายถึง ว่า เราศึกษา หรือ เพ่งพินิจในสิ่งที่ต้องการศึกษาจริง และการตีความหมายหรือหาความหมายของเรา มีความเที่ยงตรง จากข้อเท็จจริงที่พบ ไม่ใช่ประดิษฐ์ข้อค้นพบ โดยเหตุนึกเอาหรือใช้อารมณ์ความรู้สึก 3) ความน่าเชือถือ (credibility) หมายถึง แหล่งข้อมูลที่ได้รับมีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบ ตรวจทานที่มาที่ไปได้ และมีหลักฐานมารองรับ



ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ "แบบจำลองการวิจัยภาคสนามแบบปง" ซึ่่งเกิดจากการปฏิทัศน์ประสบการณ์ ของนักศึกษา หลักสูตร วัฒนธรรมและการพัฒนา ที่ได้ลงไปศึกษา ซึ่งผู้เขียน ในฐานะผู้พานักศึกษาไปฝึกประสบการณ์ครั้งนี้ ขอนำมาเผยแพร่ เพื่อได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้กัน



วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การใคร่ครวญอย่างพินิจพิจารณา

วันนี้อยากจะพูดคุยในประเด็นที่ว่า...

เราจะเริ่มต้นดำเนินงานพัฒนาภายใต้แนวคิด "การพัฒนาคือการปลดปล่อย" ได้อย่างไร? (วลีที่ว่า "การพัฒนาคือการปลดปล่อย" นี้ ผมได้รับแรงบันดาลใจจาก คุณบรรจง นะแส นักพัฒนาผู้ยิ่งยงแห่งภาคใต้ และขอยืมคำของท่านมาใช้-ท่านคงไม่ว่าอะไร)

ผมขอเริ่มต้นที่ความคิดรวบยอด 2 ความคิดได้แ่ก่ meaning perspective กับ critical reflection

การพัฒนาคือการปลดปล่อยมีจุดเริ่มต้นสำคัญที่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีรับประสบการณ์ วิธีตีความหมายแก่ประสบการณ์ ศัพท์วิทยาทางวิชาการเรียกว่า การเปลี่ยน 'ระบบคิดเชิงความหมาย' ที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า 'meaning perspective' ซึ่งเป็นความคิดรวบยอดที่มีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า 'mind set' หรือ 'mental model'

Jack Mezirow ให้ความหมาย meaning perspective ไว้ดังนี้ "the structure of assumptions that constitutes a frame of reference for interpreting the meaning of an experience"

จากความหมายดังกล่าว meaning perspective ของแต่ละคนก็คือ โครงสร้างของข้อสมมติที่เราสะสมไว้ในสมองเป็นมโนภาพที่ฝังอยู่ในตัวเรา และเมื่อเราได้รับประสบการณ์ต่างๆ เราก็จะใช้ชุดของข้อสมมติดังกล่าวเป็นกรอบอ้างอิงในการตีความหมาย-สร้างความหมายแก่ประสบการณ์นั้นๆ ข้อสมมติ (assumption) เป็นหลักการ และเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติ และการทำงานของสิ่งต่างๆ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่เราเชื่อว่าเป็นจริง

ตัวอย่างเช่น นักพัฒนาชนบทมี ข้อสมมติของการพัฒนาว่า ชาวบ้าน "โง่-จน-เจ็บ" การออกแบบหรือดำเนินกิจกรรมการพัฒนาก็ย่อมจะต้องทำไปเพื่อให้ชาวบ้านหายโง่ จน เจ็บ (ปัจจุบันสมมติฐานนี้ได้ถูกรื้อทำลายไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังคงมีบางคนที่ยึดสมมติฐานนี้อยู่) เป็นต้น

meaning perspective จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับรู้ การให้ความหมาย การจัดเก็บความรู้ และนำไปสู่ปฏิบัติการต่างๆ ของมนุษย์ เพราะมนุษย์ย่อมจะมีการกระทำหรือปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ตาม "ความหมาย" ที่มนุษย์ให้กับสิ่งเหล่านั้น

มาถึงตรงนี้จึงน่าจะเกิดคำถามขึ้นมาว่าแล้วเราจะเปลี่ยน 'ระบบคิดเชิงความหมาย' (meaning perspective) ได้อย่างไร?

การเปลี่ยนแปลง 'ระบบคิดเชิงความหมาย' มีจุดเริ่มต้นที่การเปลี่ยนวิธีิคิด Mezirow ได้เสนอรูปแบบวิธีคิดที่เรียกว่า 'การใคร่ครวญอย่างพินิจพิจารณา' (critical reflection) ซึ่งหมายถึง "การประเมินความถูกต้องเที่ยงตรงของ meaning perspective ที่แต่ละบุคคลยึดมั่นถือมั่นไว้, และตรวจสอบที่มาและผลที่เกิดขึ้นจากความเห็น-ความเชื่อดังกล่าวนั้น"

critical reflection จึงเป็นการตรวจสอบ ไตร่ตรองว่า ทำไมเราจึงคิดอย่างนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการ know why และ care why เพื่อตอบคำถามว่า "ทำไมเราจึงให้ความหมายอย่างนั้น และความหมายนั้นทำเกิดขึ้นได้อย่างไร"

การใคร่ครวญอย่างพินิพิจารณา (critical reflection) จึงเป็นวิธีคิดที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนระบบคิดเชิงความหมายในแต่ละคน เพราะทำให้เราได้ขบคิดว่า การให้ความหมายแก่โลก การให้ความหมายแก่ประสบการณ์ของเรามีที่มาอย่างไร การตระหนักหรือสำเนียกดังกล่าวจะทำให้เราได้พิจารณาตนเองว่า ความคิดของเราถูกครอบงำหรือไม่ ความคิดของใครที่ครอบงำความคิดเรา และยังทำให้เราได้คิดต่อไปว่า เรามีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่ การคิดถึงทางเลือกต่างๆ มีความสำคัญอย่างมากต่อการปลดปล่อย เพราะการปลดปล่อยย่อมหมายถึงหลุดพ้น การออกจากพันธนาการทางความคิดที่ครอบงำเราไว้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธนาการที่เราได้รับจนเคยชิน หรือรับโดยไม่รู้ตัว (unconscious) เช่น รับความหมายตามที่อาจารย์สอน ผู้ใหญ่สอน สื่อมวลชนให้ข้อมูล โดยไม่พิจารณาถึงที่มาที่ไปของวาทกรรมต่างๆ เหล่านั้น แต่รับและเชื่อโดยง่าย ฝัง/จัดเก็บไว้ในหัวสมอง และพร้อมที่จะมีท่าทีต่อเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ต่างๆ ไปตามความเชื่อที่ฝังอยู่ในตัวเรา โดยไม่เคยตรวจสอบ-ตรวจทานความถูกต้องเที่ยงตรงของความคิด ความเชื่อดังกล่าวนั้นเลย

ความคิด ความเชื่อที่เรารับรู้มาโดยปราศจากการไตร่ตรองพิจารณาจึงเป็นพันธนาการที่ครอบงำเราไว้ ดังนี้ รพินทรานาท ฐากูร บอกว่า "ความรู้คือพันธนาการ"

การพัฒนาคือการปลดปล่อยก็คือ การปลดปล่อยจากพันธนาการทางความคิดเหล่านั้น การใคร่ครวญอย่างพินิจพิจารณาจึงเป็นสาระสำคัญของ กระบวนการการพัฒนาคือการปลดปล่อย

กล่าวโดยสรุปการใคร่ครวญอย่างพิจารณาคือการคิดเพื่อตรวจสอบ ข้อสมมติต่างๆ ที่เป็นฐานคิด ฐานความเชื่อในการทำงานต่างๆ ของเราว่า ข้อสมมติที่เรายึดมั่นไว้ถูกต้องเที่ยงตรงเพียงใด และมีทางเลือกที่จะใช้ข้อสมมติอื่นๆ ในการทำงานของเราหรือไม่ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ครูด้านการบริหารผู้ล่วงลับได้กล่าวไว้ว่า "ถ้าเราวางสมมติฐานต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เราก็จะทำงานได้สำเร็จ"

ในว้ันนี้ขอนำเสนอมโนภาพเรื่อง "ระบบคิดเชิงความหมาย" กับวิธีคิดแบบ "ใคร่ครวญอย่างพินิพิจารณา" เป็นจุดเริ่มต้น และจะได้นำมโนภาพอืนๆ มาพูดคุยกันต่อไป โดยจะเริ่มต้นที่กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนรูป หรือที่เีรียกกันว่า 'transformative learning' ครับ

สุดท้ายอยากจะฝาก ธรรมบทกถาไว้ เป็นข้อเตือนใจกับพวกเราทุกคนว่า


"ยศย่อมเจริญแก่คนที่มีความหมั่น. มีสติ, มีการงานสะอาด, ใคร่ครวญแล้วจึงทำ, สำรวมระวังครองชีวิตอยู่โดยธรรม และเป็นผู้ไม่ประมาท."



วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

fear of freedom

เมื่อวันก่อนมีนักศึกษาระดับบัณฑิต ชวนให้ผมอ่านกระทู้ของเพื่อนที่เข้าไปโพสในเวปไซด์ของคณะที่เขาศึกษาอยู่ เนื้อหาโดยสรุปพูดถึงความไม่พอใจที่มีอาจารย์บางท่านที่นำเอาเรื่องการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปพูดในชั้นเรียน นักศึกษาคนนั้นพูดทำนองว่า แค่เรื่องเรียนในห้องก็เครียดอยู่แล้ว ยังนำเรื่อง "นอกห้องเรียน" มาพูดอีก และอาจารย์ก็แสดงอย่างชัดเจนว่าเชียร์ พันธมิตร นักศึกษาไม่พอใจเพราะกลัวว่าถ้าแสดงความเห็นคัดค้าน หรือ แสดงออกว่าไม่พอใจ ก็อาจจะได้เกรดไม่ดี

กระทู้ดังกล่าวมีคนเขามาแสดงความคิดเห็นมากพอสมควร มีทั้งเห็นด้วยกับเจ้าของกระทู้ และเห็นไปในทางตรงข้าม มีประเด็นน่าสนใจที่ผมว่าเราควรยิบยกมาพิจารณาให้เห็นถึงวิธีคิด วิธีรับรู้ และวิธีตีความหมายของนักศึกษาในปัจจุบัน เพราะมีนักศึกษาบางรายให้ความเห็นไปในทำนองว่า อาจารย์แบบนี้ไม่น่าเคารพ, คนที่เป็นปัญญาชนควรจะเป็นกลาง รวมไปถึงตำหนิอาจารย์ที่ยัดเยียดความคิดเห็นของตนให้กับนักศึกษา ภายใต้การวางกรอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบอาจารย์-นักศึกษา

ความคิดเห็นดังกล่าวทำให้อดย้อนระลึกถึงปฏิบัติการทางการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาของเราไม่ได้ว่า อะไรหนอที่ทำให้นักศึกษาของเราเกิด "ความกลัวที่จะมีอิสรภาพ" และตกอยู่ใน "วัฒนธรรมแห่งความเงียบ"

การเรียนการสอนในระดับบัณฑิตวิทยาลัยย่อมมุ่งหมายให้นักศึกษาสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านกระบวนทำวิจัย หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า เรียนแบบใช้การวิจัยเป็นฐาน ซึ่งการจะทำวิจัยได้นั้นนักศึกษาต้องมี independent critical though ซึ่งหมายถึง การมีอิสระเสรีที่จะคิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าปราศจากรูปแบบความคิดดังกล่าว ก็ถือว่านักศึกษายังเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของการศึกษาในระดับบัณฑิต

ที่นักศึกษาออกมาแสดงความคิดว่า ถ้าไปแสดงความเห็นขัดแย้งอาจารย์ก็อาจจะทำให้ได้เกรดไม่ดีนั้น meaning perspective ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง ความกลัวที่จะมีอิสรภาพ และการตกอยู่ในวัฒนธรรมแห่งความเงียบของนักศึกษา

ความกลัวที่จะมีอิสรภาพของนักศึกษาหมายถึง การที่นักศึกษาคนดังกล่าวไม่ยอมที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างเสรี ไม่กล้าที่จะมีอิสระทางความคิดที่จะไม่เห็นด้วยกลับอาจารย์ โดยปล่อยให้ความกลัว(ซึ่งนักศึกษาระดับบัณฑิตไม่ควรมี)เข้าครอบงำตนเอง ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า นักเรียนยังถูกพันธนาการด้วย เกรด ด้วย คะแนน มากกว่า จะให้ความสำคัญกับเนื้อหา สาระ การแถลงเหตุผล ต่อประเด็นต่างๆ ที่ยิบหยกมาพูดคุยกันในชั้นเรียน

ความกลัวที่จะมีอิสรภาพของนักศึกษาทำให้นักศึกษาตกอยู่ในวัฒนธรรมแห่งความเงียบ เป็นวัฒนธรรมที่นักศึกษาไม่กล้าเปล่งเสียงความคิดของตนออกมา เพราะถูกครอบงำโดยความเป็น "อาจารย์"

เรื่องดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะทุกคนในสังคมย่อมคาดหวังว่ามหาบัณฑิตแต่ละคนจะมีอิสรภาพทางวิชาการ เขาผู้นั้นจะเป็นปากเีป็นเสียงให้กับผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสในสังคม แต่เรื่องนี้ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาควรกลับไปใคร่ครวญดูว่า เราจัดสภาพแวดล้อมกันอย่างไร นักศึกษาจึงไม่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมาได้ ยังตกอยู่ในภาวะความกลัวที่จะไม่ได้คะแนน เพียงเพราะมีความคิดเห็นไม่ตรงกับอาจารย์

ปัญหาดังกล่าวคงไม่สามารถหาคำตอบได้โดยง่าย ผมจึงหวังว่าบล็อกแห่งนี้จะเป็นที่ที่พวกเราทุกคนได้ร่วมกันแสดงความเห็น แบ่งปันความรู้ เพื่อจะหาแนวทางที่จะช่วยกันปลดปล่อยตนเองจากการถูกครอบงำ โดยเฉพาะการครอบงำทางความคิด และนำไปสู่ความมีอิสระเสรี ซึ่งถือเป็น เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาคน

สุดท้ายก็อยากจะฝากไปถึงพวกเราทุกคนว่า ในฐานะที่เราเป็นนักศึกษา ถ้าเราได้ "เรียน" จากสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็อาจจะ "รู้" อะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็เป็นได้ ความใฝ่รู้ เป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นปัญญาชนครับ