วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การใคร่ครวญอย่างพินิจพิจารณา

วันนี้อยากจะพูดคุยในประเด็นที่ว่า...

เราจะเริ่มต้นดำเนินงานพัฒนาภายใต้แนวคิด "การพัฒนาคือการปลดปล่อย" ได้อย่างไร? (วลีที่ว่า "การพัฒนาคือการปลดปล่อย" นี้ ผมได้รับแรงบันดาลใจจาก คุณบรรจง นะแส นักพัฒนาผู้ยิ่งยงแห่งภาคใต้ และขอยืมคำของท่านมาใช้-ท่านคงไม่ว่าอะไร)

ผมขอเริ่มต้นที่ความคิดรวบยอด 2 ความคิดได้แ่ก่ meaning perspective กับ critical reflection

การพัฒนาคือการปลดปล่อยมีจุดเริ่มต้นสำคัญที่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีรับประสบการณ์ วิธีตีความหมายแก่ประสบการณ์ ศัพท์วิทยาทางวิชาการเรียกว่า การเปลี่ยน 'ระบบคิดเชิงความหมาย' ที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า 'meaning perspective' ซึ่งเป็นความคิดรวบยอดที่มีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า 'mind set' หรือ 'mental model'

Jack Mezirow ให้ความหมาย meaning perspective ไว้ดังนี้ "the structure of assumptions that constitutes a frame of reference for interpreting the meaning of an experience"

จากความหมายดังกล่าว meaning perspective ของแต่ละคนก็คือ โครงสร้างของข้อสมมติที่เราสะสมไว้ในสมองเป็นมโนภาพที่ฝังอยู่ในตัวเรา และเมื่อเราได้รับประสบการณ์ต่างๆ เราก็จะใช้ชุดของข้อสมมติดังกล่าวเป็นกรอบอ้างอิงในการตีความหมาย-สร้างความหมายแก่ประสบการณ์นั้นๆ ข้อสมมติ (assumption) เป็นหลักการ และเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติ และการทำงานของสิ่งต่างๆ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่เราเชื่อว่าเป็นจริง

ตัวอย่างเช่น นักพัฒนาชนบทมี ข้อสมมติของการพัฒนาว่า ชาวบ้าน "โง่-จน-เจ็บ" การออกแบบหรือดำเนินกิจกรรมการพัฒนาก็ย่อมจะต้องทำไปเพื่อให้ชาวบ้านหายโง่ จน เจ็บ (ปัจจุบันสมมติฐานนี้ได้ถูกรื้อทำลายไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังคงมีบางคนที่ยึดสมมติฐานนี้อยู่) เป็นต้น

meaning perspective จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับรู้ การให้ความหมาย การจัดเก็บความรู้ และนำไปสู่ปฏิบัติการต่างๆ ของมนุษย์ เพราะมนุษย์ย่อมจะมีการกระทำหรือปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ตาม "ความหมาย" ที่มนุษย์ให้กับสิ่งเหล่านั้น

มาถึงตรงนี้จึงน่าจะเกิดคำถามขึ้นมาว่าแล้วเราจะเปลี่ยน 'ระบบคิดเชิงความหมาย' (meaning perspective) ได้อย่างไร?

การเปลี่ยนแปลง 'ระบบคิดเชิงความหมาย' มีจุดเริ่มต้นที่การเปลี่ยนวิธีิคิด Mezirow ได้เสนอรูปแบบวิธีคิดที่เรียกว่า 'การใคร่ครวญอย่างพินิจพิจารณา' (critical reflection) ซึ่งหมายถึง "การประเมินความถูกต้องเที่ยงตรงของ meaning perspective ที่แต่ละบุคคลยึดมั่นถือมั่นไว้, และตรวจสอบที่มาและผลที่เกิดขึ้นจากความเห็น-ความเชื่อดังกล่าวนั้น"

critical reflection จึงเป็นการตรวจสอบ ไตร่ตรองว่า ทำไมเราจึงคิดอย่างนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการ know why และ care why เพื่อตอบคำถามว่า "ทำไมเราจึงให้ความหมายอย่างนั้น และความหมายนั้นทำเกิดขึ้นได้อย่างไร"

การใคร่ครวญอย่างพินิพิจารณา (critical reflection) จึงเป็นวิธีคิดที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนระบบคิดเชิงความหมายในแต่ละคน เพราะทำให้เราได้ขบคิดว่า การให้ความหมายแก่โลก การให้ความหมายแก่ประสบการณ์ของเรามีที่มาอย่างไร การตระหนักหรือสำเนียกดังกล่าวจะทำให้เราได้พิจารณาตนเองว่า ความคิดของเราถูกครอบงำหรือไม่ ความคิดของใครที่ครอบงำความคิดเรา และยังทำให้เราได้คิดต่อไปว่า เรามีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่ การคิดถึงทางเลือกต่างๆ มีความสำคัญอย่างมากต่อการปลดปล่อย เพราะการปลดปล่อยย่อมหมายถึงหลุดพ้น การออกจากพันธนาการทางความคิดที่ครอบงำเราไว้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธนาการที่เราได้รับจนเคยชิน หรือรับโดยไม่รู้ตัว (unconscious) เช่น รับความหมายตามที่อาจารย์สอน ผู้ใหญ่สอน สื่อมวลชนให้ข้อมูล โดยไม่พิจารณาถึงที่มาที่ไปของวาทกรรมต่างๆ เหล่านั้น แต่รับและเชื่อโดยง่าย ฝัง/จัดเก็บไว้ในหัวสมอง และพร้อมที่จะมีท่าทีต่อเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ต่างๆ ไปตามความเชื่อที่ฝังอยู่ในตัวเรา โดยไม่เคยตรวจสอบ-ตรวจทานความถูกต้องเที่ยงตรงของความคิด ความเชื่อดังกล่าวนั้นเลย

ความคิด ความเชื่อที่เรารับรู้มาโดยปราศจากการไตร่ตรองพิจารณาจึงเป็นพันธนาการที่ครอบงำเราไว้ ดังนี้ รพินทรานาท ฐากูร บอกว่า "ความรู้คือพันธนาการ"

การพัฒนาคือการปลดปล่อยก็คือ การปลดปล่อยจากพันธนาการทางความคิดเหล่านั้น การใคร่ครวญอย่างพินิจพิจารณาจึงเป็นสาระสำคัญของ กระบวนการการพัฒนาคือการปลดปล่อย

กล่าวโดยสรุปการใคร่ครวญอย่างพิจารณาคือการคิดเพื่อตรวจสอบ ข้อสมมติต่างๆ ที่เป็นฐานคิด ฐานความเชื่อในการทำงานต่างๆ ของเราว่า ข้อสมมติที่เรายึดมั่นไว้ถูกต้องเที่ยงตรงเพียงใด และมีทางเลือกที่จะใช้ข้อสมมติอื่นๆ ในการทำงานของเราหรือไม่ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ครูด้านการบริหารผู้ล่วงลับได้กล่าวไว้ว่า "ถ้าเราวางสมมติฐานต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เราก็จะทำงานได้สำเร็จ"

ในว้ันนี้ขอนำเสนอมโนภาพเรื่อง "ระบบคิดเชิงความหมาย" กับวิธีคิดแบบ "ใคร่ครวญอย่างพินิพิจารณา" เป็นจุดเริ่มต้น และจะได้นำมโนภาพอืนๆ มาพูดคุยกันต่อไป โดยจะเริ่มต้นที่กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนรูป หรือที่เีรียกกันว่า 'transformative learning' ครับ

สุดท้ายอยากจะฝาก ธรรมบทกถาไว้ เป็นข้อเตือนใจกับพวกเราทุกคนว่า


"ยศย่อมเจริญแก่คนที่มีความหมั่น. มีสติ, มีการงานสะอาด, ใคร่ครวญแล้วจึงทำ, สำรวมระวังครองชีวิตอยู่โดยธรรม และเป็นผู้ไม่ประมาท."