วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

fear of freedom

เมื่อวันก่อนมีนักศึกษาระดับบัณฑิต ชวนให้ผมอ่านกระทู้ของเพื่อนที่เข้าไปโพสในเวปไซด์ของคณะที่เขาศึกษาอยู่ เนื้อหาโดยสรุปพูดถึงความไม่พอใจที่มีอาจารย์บางท่านที่นำเอาเรื่องการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปพูดในชั้นเรียน นักศึกษาคนนั้นพูดทำนองว่า แค่เรื่องเรียนในห้องก็เครียดอยู่แล้ว ยังนำเรื่อง "นอกห้องเรียน" มาพูดอีก และอาจารย์ก็แสดงอย่างชัดเจนว่าเชียร์ พันธมิตร นักศึกษาไม่พอใจเพราะกลัวว่าถ้าแสดงความเห็นคัดค้าน หรือ แสดงออกว่าไม่พอใจ ก็อาจจะได้เกรดไม่ดี

กระทู้ดังกล่าวมีคนเขามาแสดงความคิดเห็นมากพอสมควร มีทั้งเห็นด้วยกับเจ้าของกระทู้ และเห็นไปในทางตรงข้าม มีประเด็นน่าสนใจที่ผมว่าเราควรยิบยกมาพิจารณาให้เห็นถึงวิธีคิด วิธีรับรู้ และวิธีตีความหมายของนักศึกษาในปัจจุบัน เพราะมีนักศึกษาบางรายให้ความเห็นไปในทำนองว่า อาจารย์แบบนี้ไม่น่าเคารพ, คนที่เป็นปัญญาชนควรจะเป็นกลาง รวมไปถึงตำหนิอาจารย์ที่ยัดเยียดความคิดเห็นของตนให้กับนักศึกษา ภายใต้การวางกรอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบอาจารย์-นักศึกษา

ความคิดเห็นดังกล่าวทำให้อดย้อนระลึกถึงปฏิบัติการทางการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาของเราไม่ได้ว่า อะไรหนอที่ทำให้นักศึกษาของเราเกิด "ความกลัวที่จะมีอิสรภาพ" และตกอยู่ใน "วัฒนธรรมแห่งความเงียบ"

การเรียนการสอนในระดับบัณฑิตวิทยาลัยย่อมมุ่งหมายให้นักศึกษาสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านกระบวนทำวิจัย หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า เรียนแบบใช้การวิจัยเป็นฐาน ซึ่งการจะทำวิจัยได้นั้นนักศึกษาต้องมี independent critical though ซึ่งหมายถึง การมีอิสระเสรีที่จะคิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าปราศจากรูปแบบความคิดดังกล่าว ก็ถือว่านักศึกษายังเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของการศึกษาในระดับบัณฑิต

ที่นักศึกษาออกมาแสดงความคิดว่า ถ้าไปแสดงความเห็นขัดแย้งอาจารย์ก็อาจจะทำให้ได้เกรดไม่ดีนั้น meaning perspective ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง ความกลัวที่จะมีอิสรภาพ และการตกอยู่ในวัฒนธรรมแห่งความเงียบของนักศึกษา

ความกลัวที่จะมีอิสรภาพของนักศึกษาหมายถึง การที่นักศึกษาคนดังกล่าวไม่ยอมที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างเสรี ไม่กล้าที่จะมีอิสระทางความคิดที่จะไม่เห็นด้วยกลับอาจารย์ โดยปล่อยให้ความกลัว(ซึ่งนักศึกษาระดับบัณฑิตไม่ควรมี)เข้าครอบงำตนเอง ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า นักเรียนยังถูกพันธนาการด้วย เกรด ด้วย คะแนน มากกว่า จะให้ความสำคัญกับเนื้อหา สาระ การแถลงเหตุผล ต่อประเด็นต่างๆ ที่ยิบหยกมาพูดคุยกันในชั้นเรียน

ความกลัวที่จะมีอิสรภาพของนักศึกษาทำให้นักศึกษาตกอยู่ในวัฒนธรรมแห่งความเงียบ เป็นวัฒนธรรมที่นักศึกษาไม่กล้าเปล่งเสียงความคิดของตนออกมา เพราะถูกครอบงำโดยความเป็น "อาจารย์"

เรื่องดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะทุกคนในสังคมย่อมคาดหวังว่ามหาบัณฑิตแต่ละคนจะมีอิสรภาพทางวิชาการ เขาผู้นั้นจะเป็นปากเีป็นเสียงให้กับผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสในสังคม แต่เรื่องนี้ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาควรกลับไปใคร่ครวญดูว่า เราจัดสภาพแวดล้อมกันอย่างไร นักศึกษาจึงไม่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมาได้ ยังตกอยู่ในภาวะความกลัวที่จะไม่ได้คะแนน เพียงเพราะมีความคิดเห็นไม่ตรงกับอาจารย์

ปัญหาดังกล่าวคงไม่สามารถหาคำตอบได้โดยง่าย ผมจึงหวังว่าบล็อกแห่งนี้จะเป็นที่ที่พวกเราทุกคนได้ร่วมกันแสดงความเห็น แบ่งปันความรู้ เพื่อจะหาแนวทางที่จะช่วยกันปลดปล่อยตนเองจากการถูกครอบงำ โดยเฉพาะการครอบงำทางความคิด และนำไปสู่ความมีอิสระเสรี ซึ่งถือเป็น เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาคน

สุดท้ายก็อยากจะฝากไปถึงพวกเราทุกคนว่า ในฐานะที่เราเป็นนักศึกษา ถ้าเราได้ "เรียน" จากสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็อาจจะ "รู้" อะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็เป็นได้ ความใฝ่รู้ เป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นปัญญาชนครับ